เมืองคุนหมิงตั้งอยู่บนที่ราบสูงในมณฑลยูนนาน มีภูเขาล้อมรอบตัวเมือง 3 ด้าน อาณาเขตทิศใต้ติดกับทะเลสาบ ซึ่งพื้นที่ของมณฑลยูนนานมีขนาดความกว้าง 864.9 กิโลเมตร และยาว 990 กิโลเมตร ภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบสูงและลาดต่ำลงมาทางภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมีความแตกต่างกันมาก กล่าวคือ สูงสุด 6,740 เมตร (ที่อำเภอเต๋อชิน เขตตี๋ชิ่ง) และต่ำสุด 76.4 เมตร (ที่อำเภอเหอโข่ว เขต หงเหอ) ส่วนนครคุนหมิงมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,891 เมตร เมืองคุนหมิงซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลยูนนาน มีความเป็นอยู่ในลักษณะพิเศษฝ่ายตะวันออกของคนจีน ไม่ว่า บ้านเรือน การกิน การดื่ม เสื้อผ้าอาภรณ์ การแต่งตัวหรือการบันเทิง พิธีเฉลิมฉลองต่างๆและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงสังคมและสภาพความเป็นจริงของคนจีนที่มีเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมอันดีงาม
นครคุนหมิง เมืองหลวงแห่งยูนนาน เป็นเมืองท่าใหญ่อันดับ 4 ของจีนรองจากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และ กวางโจว ที่ทางการจีนหมายมั่นให้เป็นประตูการค้าทางตะวันตก หลังพัฒนาเส้นทาง R3A เชื่อมกับไทย ลาว เวียดนาม ลงสู่อาเซียน วางเป้าหมายสู่ฮับโลจิสติกส์ ค้าขายกับพันธมิตรที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีน มีพลเมืองราว 4 ล้านคน ที่ยึดอาชีพการค้าในคุนหมิง ขณะที่ประชากรในยูนนาน มี 45 ล้านคน มองเห็นลู่ทางการค้า พอๆ กับนักธุรกิจต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาเจาะตลาดแห่งนี้ ดังนั้นในแต่ละวัน นอกจากแผงขายสินค้าทั่วไปริมถนน ภาพคนขี่จักรยาน เร่ขายสินค้า ยังคงมีให้เห็น เพราะมันคือวัฒนธรรมขายของดั้งเดิม ที่คนคุนหมิงกระทำมาตั้งแต่อดีต แต่เมื่อเข้าสู่โลกการค้าเสรี ทางการยูนนานมองเห็นศักยภาพการค้าในเมืองนี้ คุนหมิงจึงถูกปรับปรุงขึ้นใหม่เป็น “เมืองใหม่” พร้อมๆ กับการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างสนามบิน โครงการรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่คาดว่า อีก 2 ปีแผนก่อสร้างทุกอย่างจะเสร็จสิ้น เพื่อให้“เมืองท่า”แห่งนี้ รองรับการค้าที่จะหลั่งไหลเขามาอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจในนครคุนหมิงที่มีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การทำเหมืองแร่ โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ ยา อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก
อาชีพหลักและการค้าขาย
เมืองคุนหมิงเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้านำเข้าและบริการจากทั่วโลก ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในคุนหมิง จนกลายเป็นตลาดค้าปลีกอันดับหนึ่งของประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าปลีกสมัยใหม่หลายแห่งและกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ตพร้อมกับร้านสะดวกซื้อ ไว้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไปด้วย นอกจากนั้น ยังมีการเติบโตของร้านอาหารนานาชาติอย่างรวดเร็ว เช่น แมคโดนัลด์ เคเอฟซีและ พิซซ่าฮัท รวมถึงหลุยส์วิตตองที่เพิ่งเปิดร้านในคุนหมิง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 16 แห่งทั่วประเทศ ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ในใจกลางเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว และยังเป็นที่ตั้งของร้านสินค้าระดับหรูหราราคาแพง แบรนด์หรูจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี เช่น ซัลวาโตเร เฟอรากาโม ชาแนล แอร์เมส มองต์บลัง เป็นต้น และยังมีตัวแทนจำหน่ายบริษัทรถยนต์หรูหราใน คุนหมิง ได้แก่ เมอเซเดซ เบนซ์ มาเซอราติ เล็กซัสและปอร์เช่ เป็นต้น
ปัจจุบัน “หลัวซือวาน” (Luosiwan International Trade City) ได้ย้ายจากบ้านหลังเดิมไปยังบ้านหลังใหม่แล้ว ทำให้ใครที่คิดจะเดินทางไปหลัวซือวาน ก็ต้องระบุกันให้ชัดเจนว่า จะไป “หลัวซือวานเก่า” หรือ “หลัวซือวานใหม่” เพราะหากสื่อสารไม่ชัดเจน นอกจากจะเสียทั้งเวลาและสตางค์ค่ารถไปฟรีๆ แล้ว คงต้องเสียอารมณ์ไปไม่น้อย บทความฉบับนี้ จะนำผู้อ่านมารู้จักกับประวัติความเป็นมาของ “หลัวซือวาน” แบบย้อนอดีตไป 300 ปีก่อน
กำเนิดศูนย์ค้าส่งสินค้า “หลัวซือวาน”
ศูนย์ค้าส่งสินค้า “หลัวซือวาน” หรือ “หลัวซือวานเก่า” ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ ที่ 1980 ซึ่งพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มแรกที่เข้ามาจับจองพื้นที่ทำธุรกิจค้าส่งใน “หลัวซือวาน” ก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายตามแผงลอยตลอดแนวถนน “ชิงเหนียนลู่” (青年路) ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ตั้งของศูนย์ค้าส่งสินค้า “หลัวซือวาน” ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังจากการดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการ “หลัวซือวาน” ได้กลายเป็นศูนย์ค้าส่งที่มีขนาดใหญ่และคึกคักที่สุดในนครคุนหมิง จากพื้นที่ 5,700 ตร.ม.ขยายเป็นกว่า 1 ล้าน ตร.ม. จากผู้ประกอบการเมื่อเริ่มต้นจำนวน 1,260 รายเพิ่มเป็นกว่า 12,000 ราย มีผู้ซื้อเข้า-ออกวันละกว่า 150,000 คน/ครั้ง ทั้งจากภายในมณฑลยูนนานเอง และมณฑลใกล้เคียง อาทิ เสฉวน กุ้ยโจว กว่างซี รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม จนมียอดซื้อ-ขายปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านหยวน เมื่อสถานที่คับแคบ ไม่เพียงพอที่จะรับรองผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่สนใจจะเข้ามาค้าขาย และผู้ซื้อจากทั่วสารทิศที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งถนนโดยรอบที่ต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้ต้องมีการพิจารณาหาบ้านหลังใหม่ให้กับ “หลัวซือวาน”
วันที่ 1 ธันวาคม 2552 เป็นวันปิดตัวลงอย่างเป็นทางการของศูนย์ค้าส่งสินค้า “หลัวซือวาน” หรือ “หลัวซือวานเก่า” โดยในวันก่อนวันปิดตัว มีชาวคุนหมิงจำนวนมากมาเยี่ยมเยือน “หลัวซือวาน” เพื่ออำลาและเก็บเกี่ยวบรรยากาศของศูนย์ค้าส่งสินค้าที่ผูกพันกับชาวคุนหมิงมานานหลายปีแห่งนี้ไว้ในความทรงจำ รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าราคาถูกถล่มทลายที่ผู้ประกอบการนำมาลดราคาขายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะต้องวุ่นวายกับการขนย้ายสินค้าจากบ้านหลังเก่าสู่บ้านหลังใหม่ “หลัวซือวานใหม่”
“หลัวซือวานใหม่” ศูนย์ค้าส่งใหญ่ยักษ์แห่งที่ 2 ของจีน
“หลัวซือวานใหม่” ตั้งอยู่บริเวณถนนไฉ่หยูนเป่ยลู่ (彩云北路) ตัดกับถนนกว่างฝูลู่ (广福路) ห่างจาก “หลัวซือวานเก่า” ประมาณ 16 กม. เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2551 ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 32,000 ล้านหยวน ใช้เวลาเพียง 1 ปีกว่า ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อว่า “Luosiwan International Trade City” (螺蛳湾国际商贸城) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 โดยใช้โครงสร้างอาคารและรูปแบบการบริหารเหมือนกับ “Yiwu International Trade City” (义乌国际商贸城) มณฑลเจ้อเจียง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดอี้อู”
“หลัวซือวานใหม่” เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันตกของจีน (中国西部大开发) และ “ยุทธศาสตร์หัวสะพาน” (桥头堡) เพื่อส่งเสริมให้มณฑลยูนนานเป็นประตูด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และวัฒนธรรม กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยสร้างโครงข่ายการคมนาคมรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว อาทิ ทางด่วนนานาชาติ 4 สาย เส้นทางรถไฟแพนเอเชีย เส้นทางรถไฟภายในประเทศ 8 สาย ซึ่งรวมถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-เซี่ยงไฮ้ ท่าอากาศฉางสุ่ยคุนหมิงที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของจีน พร้อมทั้งเร่งก่อสร้างและปรับปรุงท่าอากาศยาน 12 แห่งในเมืองสำคัญของมณฑลยูนนาน
“หลัวซือวานใหม่” ซึ่งประกอบด้วยอาคาร 5 ชั้น จำนวน 21 อาคาร มีพื้นที่รวมกว่า 3 ล้าน ตร.ม. มีสินค้าครอบคลุมทุกกลุ่ม อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ในครัวเรือน และตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดผู้ซื้อจำนวนมากจากมณฑลใกล้เคียงและประเทศโดยรอบ เพื่อส่งเสริมให้มณฑลยูนนานบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างจีนภาคตะวันตกกับประเทศในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้
ข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครคุนหมิง
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor