ประวัติลอยกระทง 2566 สรุปสั้นๆ วันลอยกระทงมีความเป็นมาอย่างไร?
จุดเริ่มต้นและประวัติลอยกระทงไม่ได้มีหลักฐานระบุที่ชัดเจนว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่เชื่อว่าการลอยกระทงไม่ได้มีแค่ในวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังปรากฏในหลายวัฒนธรรมแถบเอเชียที่มีความเชื่อเกี่ยวข้องกับศาสนา โดยเฉพาะคติพุทธและพราหมณ์ที่ลอยกระทงเพื่อเป็นพุทธบูชาต่อสิ่งที่ให้ความเคารพนับถือ ที่มาและประวัติวันลอยกระทงสั้นๆ มีหลายตำนานด้วยกัน ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. ประวัติวันลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท
ความเชื่อเกี่ยวกับการลอยกระทงเพื่อขอบูชาพระพุทธบาทมีหลายตำนานด้วยกัน บางส่วนเชื่อว่าเป็นการรอรับเสด็จพระพุทธเจ้า หลังเสด็จไปโปรดพระมารดา บ้างก็ถือเป็นการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ ในขณะที่ชาวพุทธอีกจำนวนมาก ก็เชื่อว่าตำนานการลอยกระทงมีความเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาล
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ารับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวาย หลังเสวยแล้ว ก็ทรงนำถาดทองมาลอยน้ำและตั้งสัตยาธิษฐานว่า หากในภายภาคหน้าจะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดทองลอยทวนน้ำ ปรากฏว่าถาดทองลอยทวนน้ำจนกระทั่งพญานาคแห่งเมืองบาดาลเห็นเข้า จึงรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาและขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อที่เหล่าพญานาคจะได้ขึ้นมาสักการะ
2. ประวัติวันลอยกระทง เพื่อบูชาเทพเจ้าสูงสุดของพราหมณ์
ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จะทำพิธีลอยโคมประทีปเพื่อบูชาพระอิศวร, พระนารายณ์ และพระพรหม ซึ่งต่อมาชาวพุทธได้นำมาปรับใช้ในการบูชาองค์ศาสดา แต่เปลี่ยนมาเป็นการลอยกระทงดอกบัวลอยไปตามสายน้ำเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทแทนนั่นเอง
3. ประวัติวันลอยกระทง เพื่อรำลึกการปกป้องศาสนาของพญานาค
มีอีกหนึ่งความเชื่อประวัติลอยกระทงที่เล่ากันว่า พระเจ้าอโศกมหาราช มีพระราชประสงค์ในการสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ ตามจำนวนพระไตรปิฎกที่มีจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ แต่ไม่สำเร็จเพราะมีมารมาขัดขวาง พระอุปคตมหาเถระ จึงไปขอให้พญานาคมาช่วยปราบมารเป็นผลสำเร็จ การลอยกระทงในคืนเดือนเพ็ญ จึงถือเป็นการรำลึกและบูชาพญานาคที่มาช่วยคุ้มครองพุทธศาสนา
4. ประวัติลอยกระทงสมัยสุโขทัย และตำนานนางนพมาศ
เชื่อว่าประวัติลอยกระทงที่คนไทยคุ้นเคยกันมากที่สุด ก็คือตำนาน "นางนพมาศลอยกระทง" ซึ่งเป็นเรื่องเล่ากึ่งตำนานที่ยึดถือตามหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่เชื่อว่านางนพมาศเป็นพระสนมของพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย และเป็นกุลสตรีผู้คิดประดิษฐ์รูปดอกบัวโกมุท เพื่อใช้ในพระราชพิธีลอยพระประทีป ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระร่วง และรับสั่งให้ปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ที่สันนิษฐานว่า จริงๆ แล้ว ตำนานนางนพมาศอาจเป็นเรื่องที่แต่งเพิ่มเติมเข้าไปหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เนื่องจากภาษาโวหารมีความเป็นสมัยใหม่กว่าภาษาที่ใช้กันในสมัยสุโขทัย ทำให้บางฝ่ายมองว่าตำนานนางนพมาศอาจเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ได้ ทั้งนี้ ประวัติลอยกระทงสมัยสุโขทัยและนางนพมาศ ก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน
ลอยกระทงใส่ดอกไม้อะไรดี?
- ดอกบัว ความสำเร็จในชีวิต
- ดอกจำปี การเงินปังตลอดปี
- ดอกกุหลาบ ให้ความรักสมหวัง
- ดอกเข็ม การเรียน การงาน
- ดอกกล้วยไม้ สุขภาพแข็งแรง
- ดอกดาวเรือง การเงินรุ่งเรือง
ลอยกระทงตามปีเกิดใส่อะไรดี?
- ปีชวด - ดอกกล้วยไม้ + เงิน 7 บาท
- ปีฉลู - ดอกบัว 3 ดอก + เงิน 8 บาท
- ปีขาล - ดอกมะลิ + เงิน 5 บาท
- ปีเถาะ - ดอกบานไม่รู้โรย + เงิน 3 บาท
- ปีมะโรง - ดอกพุดหรือดอกรัก + เงิน 6 บาท
- ปีมะเส็ง - ดอกดาวเรือง + เงิน 4 บาท
- ปีมะเมีย - ดอกกุหลาบแดง + เงิน 2 บาท
- ปีมะแม - ดอกไม้สีขาว + เงิน 1 บาท
- ปีวอก - ดอกรัก + เงิน 4 บาท
- ปีระกา - ดอกดาวเรือง + เงิน 6 บาท
- ปีจอ - ดอกบัว 5 ดอก + เงิน 3 บาท
- ปีกุน - ดอกกล้วยไม้ + เงิน 5 บาท
คำศัพท์จีนน่ารู้วันลอยกระทง
- 水灯节 shuǐ dēng jié วันลอยกระทง
- 莲花 lián huā ดอกบัว
- 芭蕉叶 bājiāo yè ใบตอง
- 水灯 shuǐ dēng กระทง
- 蜡烛 là zhú เทียน
- 焚香 fén xiāng ธูป
- 鲜花 xiān huā ดอกไม้สด
- 河边 hé biān ริมน้ำ ริมแม่น้ำ
- 烟火 yān huǒ ดอกไม้ไฟ
- 天灯 tiān dēng โคมลอย
- 水灯小姐 shuǐ dēng xiǎojiě นางนพมาศ
- 放水灯 fàng shuǐ dēng ลอยกระทง
- 祝祷 zhù dǎo อธิฐาน
Powered by Froala Editor