มาวันนี้ หญิงวัย 29 ปี ใช้เวลาแต่ละวันไปกับการล้างจาน เตรียมอาหารให้พ่อแม่ และทำงานบ้านอื่น ๆ โดยพ่อแม่ของจูลีจ่ายค่าจ้างให้เธอเป็นรายวัน เพราะเธอปฏิเสธรับเงินรายเดือนที่พ่อแม่เสนอให้ประมาณ 9,600 บาทเป้าหมายสำคัญของเธอในเวลานี้ คือการพักหายใจจากการทำงานหนัก 16 ชั่วโมงต่อวันจากงานประจำที่เคยทำ เธอกล่าวตอนนั้น “ฉันมีชีวิตเหมือนศพเดินได้” ชั่วโมงทำงานที่หนักหน่วง และตลาดงานที่น่าหดหู่ กำลังบีบให้คนรุ่นใหม่ในจีน หันไปหาตัวเลือกที่ผิดแผกไปจากปกติ จูลี เป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า “ลูกฟูลไทม์” (full-time children) ที่กลับไปหาความสุขสบายใจที่บ้าน หลังต้องการพักจากชีวิตการทำงานที่เหน็ดเหนื่อย หรือหางานทำไม่ได้
คนรุ่นใหม่จีนถูกพร่ำสอนมาเสมอว่า ความพยายามอย่างหนักทั้งเรื่องการเรียนและการได้ใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยดี ๆ จะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่เวลานี้ พวกเขาหลายคนกลับรู้สึกพ่ายแพ้ และติดกับกว่า 1 ใน 5 ของชาวจีนอายุระหว่าง 16-24 ปี ยังคงว่างงาน ขณะที่อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 21.3% ตามข้อมูลของรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) ถือว่าสูงที่สุดนับแต่ทางการจีนเริ่มเผยแพร่ข้อมูลในปี 2018 และตัวเลขนี้ยังไม่นับข้อมูลจากตลาดแรงงานในแถบชนบทด้วยกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เรียกตัวเองว่า “ลูกฟูลไทม์” กล่าวว่า ตั้งใจอยู่บ้านเพียงชั่วคราวเท่านั้น มันเป็นช่วงเวลาที่ได้ผ่อนคลาย ทบทวนตัวเอง และหางานใหม่ที่ดีกว่า แต่สิ่งเหล่านี้ พูดง่ายกว่าทำได้จริง จูลี สมัครงานใหม่ไปแล้วกว่า 40 แห่งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เธอได้รับการติดต่อกลับเพื่อขอสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เพียง 2 ครั้ง “งานมันหายากอยู่แล้ว ตอนที่ฉันลาออก พอลาออกแล้ว งานยิ่งหายากกว่าเดิมอีก” เธอระบุ
เบิร์นเอาท์ ว่างงานหรือติดกับ
ภาวะเบิร์นเอาท์ที่ผลักให้คนวัยทำงานต้องกลายเป็น “ลูกฟูลไทม์” ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากพิจารณาจากสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต หรือ เวิร์ค-ไลฟ์ บาลานซ์ ที่ย่ำแย่ของจีน วัฒนธรรมการทำงานของประเทศจีน มักถูกอ้างอิงไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “996” คือการที่คนทำงานควรมองว่าการทำงานตั้งแต่ 9 นาฬิกา ถึง 21 นาฬิกา 6 วันต่อสัปดาห์ เป็นเรื่องปกติ เฉิน ดูดู เป็น “ลูกสาวฟูลไทม์” อีกคนหนึ่ง เธอออกจากงานในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปีที่ผ่านมา หลังรู้สึกเบิร์นเอาท์อย่างรุนแรงและถูกด้อยค่า ตอนนี้หญิงวัย 27 ปียอมรับว่า “แทบไม่เหลืออะไรแล้ว” หลังจ่ายค่าเช่าบ้านไป เมื่อเธอกลับไปอาศัยที่บ้านพ่อแม่ของเธอในพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน เฉินเล่าว่า เธอ “ใช้ชีวิตเหมือนคนวัยเกษียณ” แต่ความกังวลใจก็ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เธอเล่าว่า เธอได้ยินเสียง 2 เสียงในหัว “เสียงหนึ่งบอกว่า โอกาสที่จะได้มีเวลาผ่อนคลายแบบนี้หายากนะ สนุกกับมันหน่อยสิ กับอีกเสียงหนึ่งที่กระตุ้นให้ฉันคิดวางแผนว่าจะทำอะไรต่อไป”มาวันนี้ เฉินได้เริ่มธุรกิจของตัวเองแล้ว “ถ้าฉันยังเป็นแบบนั้นนานกว่านี้ ฉันคงได้กลายเป็นปรสิตเกาะพ่อแม่กินไปแล้ว”
“การจ้างงานที่ช้า”
แม้รัฐบาลจีนจะตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ดี แต่ก็พยายามมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญนัก เมื่อเดือน พ.ค. 2023 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ พีเพิลส์เดลีย์ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ “กล้ำกลืนความขมขื่น” ซึ่งเป็นคำกล่าวเชิงเปรียบเปรยในภาษาจีนว่า ให้อดทนต่อความยากลำบาก สื่อของรัฐยังนำเสนอคำจำกัดความใหม่ของการว่างงานอีกด้วย โดยบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ อีโคโนมิก เดลีย์ ใช้คำว่า “การจ้างงานที่ช้า” แม้ว่าชาวจีนรุ่นใหม่จะว่างงานอย่างชัดเจน โดยทางหนังสือพิมพ์ชี้ว่า ชาวจีนใช้เวลาหางานมากขึ้น จนเกิด “การจ้างงานที่ช้า”ต้นกำเนิดของวลีนี้มาจากไหนนั้นไม่แน่ชัด แต่ในบทความเมื่อปี 2018 ของ ไชนา ยูธ เดลีย์ เขียนว่า บัณฑิตจบใหม่จำนวนมากขึ้นใช้เวลามากขึ้นในการมองหางาน หลายคนเลือกออกเดินทาง หรือรับจ้างสอนหนังสือเป็นระยะสั้น ๆ จนทำให้เกิด “การจ้างงานที่ช้า” “การว่างงาน ก็คือการว่างงาน เราควรเรียกมันตรง ๆ” เนีย ริหมิง นักวิจัยของสถาบันการเงินและกฎหมายเซี่ยงไฮ้ กล่าว“แน่นอนว่า มีคนหนุ่มสาวที่ต้องการพักผ่อนก่อนจะเริ่มงานใหม่ แต่ฉันคิดว่า คนว่างงานส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ล้วนดิ้นรนหางาน แต่หางานทำไม่ได้”
ที่มา : BBC NEWS THAI
Powered by Froala Editor